
โรค NCDs ภัยร้ายมนุษย์ทำงาน
กลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม นำมาซึ่งผลลัพธ์อันเลวร้ายต่อสุขภาพและวิถีชีวิต
โดยส่งผลกระทบให้ต้องเสียเงินมากมายในการรักษาและเยียวยาอาการของโรค แม้ว่าโรคนั้นๆจะไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ก็ตาม
เราเรียกว่ากลุ่มโรคดังกล่าวว่า กลุ่มโรค ‘NCDs’ (Non-Communicable Diseases) หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
- เบาหวาน
- มะเร็ง
- โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
โดยกลุ่มโรคเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเรา ซึ่งโรค NCDs นี้ เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลก ปีละประมาณ 38 ล้านคนเลยทีเดียว
โดยมักเกิดขึ้นในประเทศที่ผู้คนมีรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง และมีสาเหตุการตายจากโรคหัวใจสูงสุด รองลงมาก็คือ โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคเบาหวาน
เราเข้าข่ายเป็น มนุษย์ NCDs หรือไม่?
สามารถตรวจเช็คได้จากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน ว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้หรือไม่
- ดื่มสุรา
- สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่
- กินอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- เครียดบ่อย
- มีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรค NCDs
หากลองเช็คดูแล้วพบว่ามี 1-2 ข้อในนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ได้แล้ว ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มักเกิดขึ้นกับกลุ่มมนุษย์ทำงาน ที่แม้จะไม่ได้ทำงานหนักเท่าไรนัก
แต่มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ต้องตื่นเช้า เลิกงานดึก อดมื้อเช้า ทานมื้อดึก และมักจะเครียดตลอดเวลา พอมีเวลาว่างจากงาน ก็กินกับนอน ไม่ค่อยออกกำลังกาย สุดท้ายพอเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆก็กลายเป็น มนุษย์ NCDs
และที่น่าสนใจคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังคงเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถุงลมโป่งพอง และโรคอ้วนลงพุง
ซึ่งในแต่ละปี มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก ตามสถิติปี 2556 จำนวน 54,530 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 150 ราย และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
1) ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคหลอดเลือดสมอง
- เป็นความดันโลหิตสูง
- เป็นเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคหัวใจ
- สูบบุหรี่
- ไม่ออกกำลังกาย
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
2) ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ
- เป็นความดันโลหิตสูง
- เป็นเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง
- อ้วนลงพุง
- สูบบุหรี่
- ไม่ออกกำลังกาย
- เครียดบ่อย
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
อาการเตือนที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ จะมีอาการเจ็บแน่นที่หน้าอก คล้ายมีอะไรมาบีบรัดหรือกดทับหน้าอกไว้ อาการเจ็บมักร้าวไปที่คอ ขากรรไกรหรือไหล่ซ้าย มักจะมีอาการมากในขณะออกแรง อาจมีการหายใจเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ เวียนศีรษะ หน้ามืด และหมดสติร่วมด้วย
วิธีทำให้หัวใจมีสุขภาพดี
- เลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ ได้แก่ ลดการทานอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบของเกลือ น้ำตาลและไขมันในปริมาณสูง ลดการทานขนมหวาน หันมาทานผักสดและผลไม้สด
- ห้ามสูบบุหรี่
- ออกกำลังกาย ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเฉื่อยชา เช่น การดูทีวี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์
- เลือกใช้สังคมออนไลน์อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม โดยไม่ควรจะหมกหมุ่นเกินไป
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี
ส่วนโรคมะเร็ง ยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยต่อเนื่องกันมาถึง 13 ปีซ้อน และ 5 อันดับของสาเหตุการตายด้วยโรคมะเร็งในประเทศไทย ได้แก่
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งทวารหนักและลำไส้ใหญ่
- มะเร็งปากมดลูก
ซึ่งหากไม่อยากเป็นมะเร็ง ก็ควรเลี่ยงสาเหตุหรือพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ที่เป็นการกระตุ้นการสร้างเซลล์มะเร็ง
หรือ การทานอาหารที่มีการปนเปื้อน เช่น ถั่วลิสงป่น ที่มีสารอัลฟาท็อกซิน พริก หอม กระเทียม ที่มีเชื้อรา หรืออาหารปิ้งย่าง ที่มีสาร PAH เป็นต้น
ส่วนโรคเบาหวานก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมาก เพราะคนไทยในยุคปัจจุบัน ขาดความหวานไม่ได้ หรือเรียกว่ามีอาการติดหวาน ซึ่งผลสำรวจพบว่า
คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชาต่อคน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 3 เท่าตัว และเครื่องดื่มที่มีอยู่รายล้อมเราในทุกวันนี้ ก็มีปริมาณของน้ำตาลมากจนคาดไม่ถึง เช่น
- น้ำผลไม้กล่อง ขนาด 20 มล. มีน้ำตาล 6.25 ช้อนชา
- กาแฟสด 1 แก้ว ขนาด 475 มล. มีน้ำตาล 10.5 ช้อนชา
- น้ำอัดลม 450 มล. มีน้ำตาล 10.75 ช้อนชา
ดังนั้นวิธีที่เลี่ยงน้ำตาลที่ดีที่สุดคือ ควรดื่มแต่น้ำเปล่า เพื่อหลีกเลี่ยงการรับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจุบันคนไทยมีสถิติอ้วนขึ้นและมีน้ำหนักเกินมาตรฐานเป็นอันดับ5 ของเอเซีย-แปซิฟิกแล้ว
วิธีป้องกันโรค NCDs
โรค NCDs ถือเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของเราเอง ดังนั้นจึงสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเสียใหม่ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงสารพิษต่างๆที่อยู่รอบตัว
งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัดหรือเค็มจัด หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ไม่รับประทานอาหารหรือเนื้อสัตว์แบบสุกๆดิบๆ รับประทานผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระและพักผ่อนให้เพียงพอ
>> รายละเอียด : น้ำว่านหางจระเข้ S Vera Plus <<
>> รายละเอียด : เครื่องดื่มเอนไซม์ S.O.D <<