กินเพื่อสุขภาพ ด้วยการทานอาหารให้ครบ 7 หมู่
ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจว่า หลักการพื้นฐานที่มักพูดกันเสมอๆว่า “กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แล้วออกกำลังกายก็พอ..”
ทำไมถึงเป็นความรู้ที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ และไม่สามารถช่วยป้องกันโรคเรื้อรังได้ ฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานที่สำคัญ ที่มีผลต่อสุขภาพของเราก่อน
ในปัจจุบัน ข้อมูลทางการแพทย์ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า ถ้าเราต้องการให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงว่าเราจะมีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อมากขึ้น (พูดง่ายๆว่าจะเป็นหวัดและป่วยยากขึ้น)
เราต้องปฏิบัติตามหลัก 5 อ. ซึ่งประกอบไปด้วย อาหาร อุจจาระ(ขับถ่าย) ออกกำลังกาย อากาศ อารมณ์
นั่นคือถ้าเราได้กินอาหารที่ดี มีการขับถ่ายที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อยู่ในที่ที่อากาศดี และไม่เครียด เราก็จะห่างไกลจากโรคต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ เราจะอ้างอิงหลักการทางการแพทย์ดังกล่าวโดยมุ่งเน้นอธิบายไปในเรื่องของอาหาร อุจจาระ ออกกำลังกาย (เน้นเรื่องอาหารมากที่สุด เพราะมีความสำคัญมากที่สุด)
อาหาร 7 หมู่
ถ้าเปรียบเทียบร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์ การที่รถยนต์จะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ก็ต้องมีการเติมน้ำมันและสารต่างๆ เข้าไปในรถ เช่นเดียวกันกับร่างกายของเราก็ต้องการบางอย่างเข้าไป เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ อาหาร นั่นเอง
ในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร เราทุกคนต่างก็เคยได้ยินหลักการที่ว่า ร่างกายเราต้องการอาหาร 5 หมู่ แต่ความจริงแล้ว ร่างกายเราต้องการอาหาร 5 หมู่และสิ่งจำเป็นอีก 2 กลุ่ม(รวมเป็น 7)
เพื่อให้ร่างกายเราสามารถทำงานได้ตามปกติ และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือเรียกว่า “กินเพื่อสุขภาพ” โดยสิ่งจำเป็นทั้ง 7อย่างนั้นมีความสำคัญดังนี้
หมู่ที่ 1 โปรตีน
โปรตีนมีมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกประเภท นม ไข่ ถั่ว และธัญพืช อาหารประเภทโปรตีนเป็นหนึ่งในสารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกายของเรา
ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่กินสารอาหารที่ให้พลังงาน เราก็จะมีสภาพไม่ต่างจากรถยนต์ที่ไม่เติมน้ำมันเลยนั่นคือ ร่างกายก็จะไม่มีกำลังที่จะเคลื่อนไหว
นอกจากในมุมของการให้พลังงานแล้ว โปรตีนจัดว่าเป็นอาหารหมู่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเรามาก หากเปรียบเทียบร่างกายกับรถยนต์ โปรตีนก็เปรียบได้กับโครงสร้างหลักของรถยนต์เลยทีเดียว
เพราะโปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย ทั้งแขน ขา คอ รวมไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจ ฉะนั้น คนที่กินโปรตีนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะอ่อนแอ ป่วยง่าย เหมือนรถยนต์ที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงก็จะผุพังได้ง่าย
นอกจากนี้ทุกขณะที่ร่างกายเราทำงาน ก็จะเกิดการสึกหรอขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย(ทั้งภายในและภายนอก) การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก็จำเป็นต้องใช้โปรตีนทั้งสิ้น
ฉะนั้นถ้าเรากินโปรตีนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะซ่อมแซมตัวเองได้ไม่เต็มที่ (เหมือนรถยนต์ที่ไม่ได้ดูแลรักษา ไม่ซ่อมบำรุงส่วนที่เสีย หรือสึกหรอ)
อวัยวะต่างๆก็จะสึกหรอและเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลทำให้สุขภาพของเราย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และถ้าวัยวะที่สึกหรอเป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต ก็สามารถส่งผลให้เราเสียชีวิตได้ทีเดียว
นอกจากนี้ สารที่สมองใช้สื่อสารก็สร้างจากโปรตีน ฮอร์โมนและเอ็นไซม์ก็สร้างจากโปรตีน และโปรตีนจะถูกใช้ทุกๆวินาทีในการสร้างเม็ดเลือดแดง ภูมิต้านทานจะดีก็ต้องอาศัยโปรตีนเป็นตัวสร้าง
ปัญหาที่ผิวหนังทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากโปรตีนที่ไม่ดี มาถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพแล้วว่า โปรตีนมีความสำคัญขนาดไหน…
หมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตมีมากในอาหารประเภทข้าว ขนมปัง แป้ง น้ำตาล ก๋วยเตี๋ยว พาสต้า เผือก มัน น้ำหวาน ถั่วและธัญพืช อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเมื่อถูกย่อยแล้วก็จะกลายเป็นน้ำตาลชนิดต่างๆ
ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกายทุกส่วน รวมถึงสมองด้วย ด้วยเหตุนี้ถ้าเรากินอาหารประเภทนี้ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้สมองและอวัยวะต่างๆทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆได้ (การกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงไม่ดีดีต่อสุขภาพเสมอไป)
หมู่ที่ 3 ไขมัน
ไขมัน เป็นอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูง มีมากในไขมันสัตว์ และพืชบางชนิดเช่น ถั่ว ธัญพืช มะพร้าว ปาล์ม บางคนอาจจะถูกปลูกฝังเรื่องความน่ากลัวของไขมัน
แต่ความจริงแล้วไขมันก็ยังคงเป็นสารที่อาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย(ขาดไม่ได้)เพราะวิตามินบางอย่างก็จะละลายได้ในไขมันเท่านั้น หากเราไม่กินไขมันเข้าไปเลย ร่างกายก็จะไม่สามารถดูดซึมวิตามินบางอย่างได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ไขมันยังเป็นวัตถุดิบในการผลิตฮอร์โมน น้ำดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ มีผลดีต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดการอักเสบ ลดการแข็งตัวของเลือด
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสมองหากเราขาดไขมันที่จำเป็น ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและร่างกายส่วนอื่นๆทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาได้ (การกินอาหารไขมันต่ำมากๆ จึงไม่ได้ดีต่อสุขภาพเสมอไป)
หมู่ที่ 4 และ 5 วิตามินและเกลือแร่
วิตามินและเกลือแร่ มีมากในอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืชทุกชนิด และบางประเภทมีมากในเนื้อสัตว์ สารอาหารสองหมู่นี้จะแตกต่างจากสารอาหาร 3 หมู่ก่อนหน้าตรงที่เป็นสารอาหารประเภทที่ไม่ให้พลังงานเลย
แต่มีความสำคัญกับร่างกายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะวิตามินและเกลือแร่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกาย
ถ้าจะเปรียบเทียบกับรถยนต์ อาหารใน 2 หมู่นี้ ก็เปรียบได้กับน้ำมันหล่อลื่นตามส่วนต่างๆของรถยนต์ หากรถยนต์คันไหนไม่เติมสิ่งเหล่านี้เข้าไป ถึงจะวิ่งได้ในช่วงแรก แต่ไม่นานรถคันนั้นก็จะสึกหรออย่างรวดเร็วจนพังในที่สุด
เช่นเดียวกันกับร่างกายมนุษย์ หากใครขาดสารอาหารใน 2 หมู่นี้แม้ว่าในช่วงแรกร่างกายอาจจะยังทำงานได้(ดูเหมือนเป็นปกติ) แต่อวัยวะภายในต่างๆ จะสึกหรออย่างรวดเร็ว และทำงานด้อยประสิทธิภาพลง จนกลายเป็นคนอมโรคในที่สุด
หมู่ที่ 6 ใยอาหาร(ไฟเบอร์)
ใยอาหารมีมากในผัก ผลไม้ ธัญพืช โดยเราจะสังเกตได้ว่าอาหารที่มีใยอาหารมากก็คือ อาหารที่เวลาเราเคี้ยวจนละเอียดจะเหลือกากอาหารในลักษณะเป็นเส้นๆ เหลืออยู่
ความจริงแล้วใยอาหารไม่จัดว่าเป็นอาหาร เนื่องจากไม่ได้ให้สารอาหารใดๆกับร่างกาย และไม่ได้ให้พลังงานกับร่างกายแม้แต่น้อยนิด ดูผ่านๆอาจดูเหมือนใยอาหารเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ แต่ใยอาหารกลับมีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก
หมู่ที่ 7 น้ำ
น้ำก็เป็นสิ่งที่ไม่ให้พลังงานและสารอาหารกับร่างกายเลย แต่มีความสำคัญต่อร่างกายมาก และมีความสำคัญมากกว่าอาหารอีก 6 หมู่ที่กล่าวมาเสียอีก
เพราะโดยปกติแล้ว ร่างกายเราโดยเฉลี่ยสามารถไม่กินอาหารได้ยาวนานนับเดือนโดยที่ยังไม่เสียชีวิต แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่รอดชีวิตหากขาดน้ำมากกว่า 3-7 วัน เราจึงขาดน้ำไม่ได้
แค่กินให้ครบ 7 หมู่
ถึงตรงนี้หลายๆท่านคงยังคิดเหมือนกับแพทย์ส่วนใหญ่ว่า ถ้าอย่างนั้น การดูแลสุขภาพด้วยการกินก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแค่เรากินให้ครบ 5 หมู่ กินใยอาหาร ดื่มน้ำ แล้วพยายามออกกำลังกาย และพยายามขับถ่าย ก็คงจะเพียงพอแล้ว
ความเข้าใจดังกล่าวนั้น ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะหากเรากินแฮมเบอร์เกอร์กับน้ำอัดลม ซึ่งก็มีโปรตีน(เนื้อสัตว์) คาร์โบไฮเดรต(ขนมปัง) ไขมัน(เนื้อสัตว์) วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร(แตงกวา มะเขือเทศ) น้ำ(น้ำอัดลม) ก็ถือได้ว่าเป็นการกินอาหารที่ครบ 7 หมู่เช่นกัน
แต่การกินแฮมเบอร์เกอร์กับน้ำอัดลมนั้นทางการแพทย์เรียกว่า อาหารขยะ(Junk food) ยิ่งกินก็จะยิ่งมีสุขภาพย่ำแย่ ยิ่งเป็นโรคและยิ่งอ้วน
รวมถึงการกิน ข้าวผัดกระเพรากับชาเย็น หรือกินผัดซีอิ้วกับโอเลี้ยง ก็มีสารอาหารครบทั้ง 7 หมู่ด้วยหลักการเดียวกัน แต่คนที่กินอาหารครบ 7 หมู่แบบดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ห่างไกลจากโรคต่างๆแถมอาจมีโรคมากขึ้นด้วย
(แพทย์ส่วนใหญ่ก็กินแบบนี้จึงเป็นโรคเรื้อรังกันมาก) ในขณะเดียวกันก็มีคนที่กินคล้ายๆแบบนี้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย (รวมไปถึงนักกีฬาอาชีพ)หัวใจวายแบบเฉียบพลันตายคาสนาม
ความจริงเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ความเข้าใจดังกล่าวยังไม่เพียงพอ คำถามก็คือ “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น.. ?” เรามาหาคำตอบกันในตอนต่อไปกัน…
- กินให้สุขภาพดี ห่างไกลจากโรคเรื้อรัง
- ความจริงของ “โรคเรื้อรัง” ที่คุณต้องรู้
- ปรับสมดุล จากอาหารที่ทานเพื่อต้านมะเร็ง