
5 คำถามที่ควรรู้เกี่ยวกับถุงน้ำ ‘รังไข่’
เรื่องถุงน้ำใน ‘รังไข่’ นั้นเป็นเรื่องเล็กที่ไม่เล็กเลยสำหรับผู้หญิง หลายคนเกิดความวิตกกังวลเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นถุงน้ำใน ‘รังไข่’
ซึ่งโดยมากมักพบหรือรู้ตัวจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้องด้วยปัญหาสุขภาพอื่นๆมา
และคนทั่วไปก็มักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องถุงน้ำรังไข่อยู่หลายอย่าง เรามาเคลียร์กันทีละประเด็นเลยค่ะ
1.ถุงน้ำรังไข่กับซีสต์รังไข่เป็นคนละโรค!
ความจริง.. “ถุงน้ำรังไข่กับซีสต์รังไข่เป็นโรคเดียวกัน” เพราะคำว่าซีสต์ (Cyst)เป็นคำทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษแปลว่า ถุงที่มีน้ำของเหลวหรืออากาศบรรจุอยู่ภายในนั่นเอง
2.เป็นถุงน้ำรังไข่แล้วทำให้มีลูกยาก!
ไม่จำเป็นเสมอไปค่ะ.. ถุงน้ำรังไข่มีอยู่หลายชนิด แล้วส่วนใหญ่ไม่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการมีลูกยากเลยยกเว้นถุงน้ำรังไข่ชนิดช็อกโกแลตซีสและกลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในไข่ใบเดียว (Polycystic Ovarian Syndrome)
3.ถุงน้ำรังไข่จะเป็นมะเร็งหรือกลายเป็นมะเร็งในภายหลัง!
ที่จริงแล้วผลการวินิจฉัยออกมาว่าเป็นถุงน้ำรังไข่ ก็แสดงว่าไม่ใช่มะเร็ง และมักจะไม่เป็นมะเร็งในภายหลังด้วย สบายใจได้เลยค่ะ
4.ถุงน้ำรังไข่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น..!
ถุงน้ำรังไข่นั้นส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการใช้ยาและการเฝ้าระวัง มีน้อยรายที่จะมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
5.การตรวจพบถุงน้ำรังไข่เป็นสิ่งผิดปกติ..!
ความจริงแล้ว.. ถุงน้ำรังไข่พบในผู้หญิงทั่วไปร้อยละ 10 เช่นหากผู้หญิงคนหนึ่งไปตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ทุกปีช่วงชีวิตหนึ่งต้องเจอถุงน้ำรังไข่ปกติอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคจึงไม่ต้องรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำรังไข่ที่เจอ
ที่จริงอวัยวะทุกส่วนภายในร่างกายของเรามีโอกาสเกิดซีสต์ได้ทั้งนั้น! ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กระดูก ไขมัน อวัยวะภายใน หรือแม้แต่สมองเองก็มีซีสต์เกิดขึ้นได้ ส่วนผู้หญิงก็จะมีความพิเศษมากกว่าผู้ชายตรงที่มีอวัยวะสืบพันธุ์คือ รังไข่
ที่มีโอกาสเกิดซีสต์ขึ้นได้บ่อยๆ ยิ่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วก็จะเกิดซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ขึ้น โตแล้วก็ยุบหายไปตามรอบเดือนซึ่งเกิดจากการตกไข่ตามปกติ
มารู้จักชนิดของถุงน้ำรังไข่กัน
-
ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
เป็นชนิดที่พบบ่อยมากเพราะผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์หากไม่ได้คุมกำเนิดย่อมมีไข่ตกจากถุงไข่เป็นปกติ ซึ่งถุงนี้เองจะกลายเป็นถุงน้ำรังไข่และฝ่อหายไปเองเมื่อประจำเดือนมา
บางรายถุงน้ำรังไข่อาจจะคงอยู่ได้นานถึง 1-3 เดือนก่อนที่จะฝ่อและหายไปเอง ส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่โต (ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร) ฉะนั้นหากตรวจเจอถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็ก ก็คือถุงน้ำที่เกิดตามธรรมชาติซึ่งจะฝ่อหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา
ขณะที่บางรายที่เจอมีขนาดใหญ่กว่าแต่ไม่เกิน 8-10 เซนติเมตร ถ้าเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้อาการจะไม่ค่อยรุนแรง เช่นอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่วนใหญ่ก็รักษาได้ด้วยการใช้ยาปรับฮอร์โมน (Rebalance) ให้กลับมามีความสมดุลเหมือนเดิม
-
ช็อกโกแลตซีสต์
เป็นถุงที่ภายในมีเลือดเหลวสีน้ำตาลข้นเหมือนช็อกโกแลตอยู่ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีอาการที่พบบ่อยคือ ปวดประจำเดือนและมีลูกยาก ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยยาแต่ถ้าหากต้องการมีลูกหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยยาก็ต้องใช้วิธีผ่าตัด
-
เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cyst)
เป็นถุงที่ภายในมีไขมัน เส้นผม กระดูก ฟัน เนื้อเยื่ออื่นๆ เกิดจากเซลล์ที่พัฒนามาจากเซลล์ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และลำไส้ พบได้ประมาณ10-20% ของจำนวนคนที่เป็นถุงน้ำรังไข่ และพบมากในผู้หญิงช่วงอายุ 20-30 ปี
ทำให้หญิงช่วงวัยนี้มีการผ่าตัดทางนรีเวชสูงที่สุด ไม่ว่าจะตรวจพบโดยบังเอิญหรือมีอาการปวดท้องจากการบิดขั้วหรือโตจนคลำก้อนที่ท้องน้อย
ในสมัยก่อนจะรักษากันด้วยการผ่าตัดจึงเชื่อว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ (ถูกเสกของเข้าท้อง) เพราะเห็นว่ามีเศษหนัง เส้นผม ไขมัน กระดูก เนื้อเยื่อต่างๆในก้อนเดอร์มอยด์ชีสต์ซึ่งมันน่าประหลาดใจไม่น้อยที่เจอสิ่งเหล่านี้อยู่ข้างใน เลยทำให้เรื่องราวดูคล้ายกับโดนคุณไสยไปโดยปริยาย
-
ถุงน้ำรังไข่หลายใบในไข่ใบเดียว
ถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้มีขนาดเล็กตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร จนถึงประมาณ 1 เซนติเมตร คือในไข่ใบเดียวจะมีถุงน้ำถึง 12-15 ถุง แต่ไม่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ถุงน้ำเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มที่ประกอบไปด้วยโรคอ้วน หน้ามัน เป็นสิว ขนดก ประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ
โรคนี้ทำให้มีลูกยากเพราะไข่ไม่ตก เลยมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งโพรงมดลูก บางคนก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนของความอ้วนได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขข้อ หัวใจ ส่วนใหญ่ก็รักษาด้วยยา
-
เนื้องอกธรรมดาของรังไข่
เป็นถุงที่บรรจุน้ำใสหรือน้ำสีเหลืองฟางหรือมูก ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ประจำเดือนมาไม่ปกติ คลำก้อนในท้องได้ ปวดท้องเพราะเนื้องอกเกิดอาการบิดขั้วหรือมีเลือดออกในก้อนหรือแตก เนื้องอกธรรมดาของรังไข่ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 8 เซนติเมตร)บางคนอาจมีขนาดใหญ่จนเต็มท้องน้ำหนักเป็นสิบกิโลกรัมก็มี ต้องรักษาโดยการผ่าตัด
การตรวจถุงน้ำรังไข่ทั้ง 5 ชนิดนี้ สามารถตรวจได้ว่าเป็นชนิดไหน? โดยการดูจากอาการที่เป็น ตรวจภายใน การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และบางรายอาจต้องเจาะเลือดหรือตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม ส่วนการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำรังไข่
หมดกังวลได้เลยค่ะหากเป็นถุงน้ำรังไข่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะไม่พัฒนาเป็นมะเร็งแล้วก็ไม่ต้องผ่าตัด สามารถจะยุบหายไปได้เองหลังการรักษา แต่ถ้าเป็นชนิดอื่นให้สังเกตอาการตามนี้
6 สัญญานเตือน
- มีอาการปวดท้องน้อย โดยเฉพาะปวดสัมพันธ์กับรอบเดือนก็อาจสงสัยว่าจะมีช็อกโกแลตซีสต์
- รู้สึกว่าปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากซีสต์โตพอสมควรเลยไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- มีอาการหน่วง ๆ แถวท้องน้อย
- บางคนไม่มีอาการเลยแต่รู้สึกหรือเข้าใจไปว่ามีหน้าท้องโตเพราะอ้วน
- อาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน จากขั้วถุงน้ำรังไข่บิด หรือถุงน้ำรังไข่แตกก็ได้
- อาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ มามาก มากะปริบกะปรอย ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละเดือน
ในกรณีร้ายแรงที่ถุงน้ำแตกออกและมีเส้นเลือดฉีกขาดก็อาจทำให้ตกเลือดได้ ซึ่งเป็นอันตรายและมีโอกาสทำให้เสียชีวิต โรคนี้แม้ไม่ใช่มะเร็งร้ายแต่ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพ และอันตรายได้
ผู้หญิงควรให้ความสนใจหากมีอาการผิดปกติ ใน 6 สัญญาณเตือน ก็ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาแต่เนิ่นๆเพราะการเกิดถุงน้ำในรังไข่ยังเป็นสาเหตุของความผิดปกติของระบบอื่นๆ ของร่างกายตามมาอีกหลายระบบด้วย
การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้หญิง ด้วยการปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ..
>> ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำไงดี? <<
>> ตกขาวอย่าตกใจ <<
>> ปรับสมดุลฮอร์โมนด้วยอาหารเสริมClick <<